ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB)ร่วม อย.ตัดตอนสายเคลิ้มกวาดล้างแหล่งจำหน่ายน้ำหวานสุดฮิตผสม โคเดอีน มอมเมาเยาวชน

0
227

วันที่ 17 ตุลาคม 2566 พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4บก.ปคบ., นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และเภสัชกร วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันปฏิบัติการ กรณีกวาดล้างผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำหวานต้องสงสัยว่าผสม โคเดอีน (ยาเสพติดให้โทษประเภท 2) และยาไม่มีทะเบียนอื่นๆ ตรวจค้น 6 จุด ตรวจยึดของกลาง 32 รายการ เป็นผลิตภัณฑ์น้ำหวานผิดกฎหมายต้องสงสัยว่าผสมสารต้องห้ามจำนวน 865 ขวด มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท
พฤติการณ์กล่าวคือสืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและได้รับการร้องเรียนจากประชาชนให้ตรวจสอบการขายยาผลิตภัณฑ์น้ำหวานยี่ห้อ “Legendtean Syrup”ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ“Legendtean Syrup” (https://www.facebook.com /profile.php?P) และเว็บไซต์ http://www. legendlean.com ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกำลังระบาดและเป็นที่
นิยมในกลุ่มวัยรุ่น โดยการนำไปผสมน้ำอัดลม,ยาบางชนิด หรือดื่มโดยไม่ผสมอะไรเลย เพื่อสร้างความมึนเมาจึงทำการตรวจสอบเว็ปไซต์ดังกล่าวพบว่ามีการลงโฆษณาขายยาแผนปัจจุบัน และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่รับประทานแล้วเกิดอาการมึนเมา เช่น ยาน้ำแก้ไอ แก้แพ้ ทรามาดอล(Tramadol)ผลิตภัณฑ์LegendLean & Lean US.,PROMETHAZINE WITH CODEINE SYRUP ยี่ห้อ Qualitest เป็นต้น อีกทั้งมีการโฆษณาสรรพคุณของผลิตภัณฑ์น้ำหวานดังกล่าวว่ารับประทานแล้ว ทำให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะใหม่,ผ่อนคลาย, เพลิดเพลิน, ล่องลอย รวมถึงมีการเขียนรีวิวในเพจเฟซบุ๊คว่ารับประทานแล้ว เมา หลับง่าย เป็นต้น ผลของการใช้ยาแก้ไอ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสมในกรณีที่นำไปใช้ในทางที่ผิดจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ อาทิเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม หากใช้ประมาณมากอาจทำให้หยุดหายใจ ช็อก และหัวใจหยุดเต้นและที่สำคัญ การใช้ยาติดต่อเป็นเวลานานทำให้เกิดการติดยาทั้งทางกายและจิตใจ และมีอาการถอนยาเมื่อขาดยา เช่นเดียวกับการติดมอร์ฟีนหรือเฮโรอีน ซึ่งจะต้องเข้ารับการบำบัดรักษาจึงจะหายจากการติดยาได้ เมื่อทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ขายบนเว็บไซต์ดังกล่าว และส่งผลิตภัณฑ์ PROMETHAZINE WITHCODEINE SYRUP ตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบเมลาโทนินซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ จึงได้สืบสวนจนทราบแหล่งผลิตแหล่งจัดจำหน่ายจึงเป็นที่มาของการระดมกวาดล้างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในครั้งนี้ต่อมาในห้วงวันที่ 30 มิถุนายน – 11 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)จึงได้ร่วมกันเข้าทำการตรวจค้นสถานที่จัดเก็บและผู้จำหน่ายในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และอ่างทอง จำนวน 6 จุด มีรายละเอียดดังนี้

1.บ้านพักย่านซอยพหลโยธิน 67/1 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์น้ำหวานยี่ห้อ Legend-Lean จำนวน 162 ขวด 2.บ้านพักย่านซอยอยู่วิทยา 16 แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์น้ำหวานยี่ห้อ Legend-Lean จำนวน 6,600 ขวด และผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นความผิด จำนวน 4
รายการ 3.บ้านพักย่านซอยพระนคเรศ แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์น้ำหวานยี่ห้อ Lean จำนวน 96 ขวด, และผลิตภัณฑ์ยาน้ำเชื่อมแก้ไอ(ต้องสงสัยว่ามีส่วนผสมของโคเดอีน) ยี่ห้อ Neo-Cough จำนวน 40 ขวด, ผลิตภัณฑ์ยาต้องสงสัยว่าเป็นยาไม่มีทะเบียน และผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นความผิด จำนวน 4 รายการ บ้านพักย่านซอยพัฒนาการ 25 อาคารพัฒนาการไลท์ คอมเพลกซ์ตึก 4 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์น้ำหวานยี่ห้อ Legend-Lean จำนวน 402 ขวด และผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นความผิด จำนวน 10 รายการ 5.บ้านพักแห่งหนึ่ง หมู่ที่ 4 ต.บ้านกร่าง อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ตรวจยึดผลิตภัณฑ์น้ำหวานยี่ห้อ Legend-Lean จำนวน 15 ขวด 6.บ้านพักแห่งหนึ่ง หมู่ที่ 4 ต.เทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง ตรวจยึดผลิตภัณฑ์น้ำหวานยี่ห้อ LegendLean จำนวน 205 ขวด และผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นความผิด จำนวน 11 รายการ รวมตรวจยึดของกลางทั้งหมด 32 รายการ เป็น 1.ยาน้ำเชื่อมแก้ไอยี่ห้อ Neo-Cough (ต้องสงสัยว่ามีส่วนผสมของโคเดอีน) จำนวน 40 ขวด, ยาไม่มีทะเบียน และผลิตภัณฑ์น้ำหวานยี่ห้อ Legend-Lean รวม 865 ขวด มูลค่ากว่า 1,126,850 บาท พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดส่งตรวจที่่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยผลิตภัณฑ์ที่ระบุตัวยาแผนปัจจุบัน และสารเสพติดข้างต้นอยู่ระหว่างการตรวจหาสารที่เป็นอนุพันธ์ทางยาและสารเสพติดจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อยืนยันผลตรวจต่อไป

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522 “จำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง”ระวางโทษโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ หากตรวจพบว่ามีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน หรือมีการผสมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ที่ระบุเป็นอาหาร จะเป็นความผิด ฐาน“จำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต”ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากตรวจพบโคเดอีน(ยาเสพติดให้โทษประเภท2)จะเป็นความผิดประมวลกฎหมายยาเสพติดฐาน “ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 4ฯ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระแสการนำผลข้างเคียงจากยากลุ่มแก้แพ้ แก้ไอ แก้ปวด ไปใช้เป็นส่วนผสมเครื่องดื่มในลักษณะสารเสพติดที่เรียกว่า “4×100” หรือ Lean (ลีน) เพื่อให้เกิดอาการมึนเมา วิงเวียนขาดสติ เป็นที่นิยมมากและมีอัตราสูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น ถือว่าเป็นอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพ อาจทำให้เกิดการติดยาทัั้งทางกายและจิตใจ และมีอาการถอนยาเมื่อขาดยา รวมถึงอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนตามมา บก.ปคบ.จะดำเนินจับกุมอย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุดโดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค