ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB)อนามัยอึ้ง…บุกโรงงานผลิตไก่ยอ ไส้กรอกอีสานเถื่อนย่านบางเขน ส่งขายทั่วกรุงเทพฯ – ปริมณฑล

0
57

วันที่ 15 มี.ค.พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว,พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ.,พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ.,และเจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปคบ.ปฏิบัติการเข้าตรวจค้นทลายโรงงานผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสานเถื่อนย่านบางเขน ตรวจยึดไก่ยอและไส้กรอกอีสานไม่มีเลข อย. กว่า 729 กิโลกรัม
สืบเนื่องจาก กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมีมาตรการในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อนจำหน่าย ซึ่งอาจนำมาสู่กระแสอาหารสกปรก จึงทำการเฝ้าระวังและสืบสวนหาข่าวเรื่อยมา ต่อมาพบว่า มีโรงงานไก่ยอและไส้กรอกอีสานเถื่อนย่านบางเขน กทม. ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีการส่งไก่ยอและไส้กรอกอีสานขายตลาดขนาดใหญ่ เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดบางกะปิ เป็นต้น เพื่อความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.จึงสืบสวนหาข่าวพบว่าในพื้นที่เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร มีโรงงานลักลอบผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสานเถื่อน โดยลักลอบผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสานจำนวนมาก ในสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แพ็คบรรจุส่งขายตามตลาดขนาดใหญ่ในพื้นที่ ได้แก่ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดบางกะปิ และบริเวณใกล้เคียง ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2567 เจ้าหน้าที่ได้ขอหมายค้นต่อศาลอาญามีนบุรีเพื่อเข้าค้นบ้านพักอาศัยที่ดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสาน ภายในซอยคู้บอน แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร พบนางสาวเอ (สงวนนามสกุลจริง) แสดงตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ตรวจยึด 1.ไก่ยอ ไม่ระบุยี่ห้อ ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 17 ถุง, 2. ไก่ยอ ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 127 ถุง, 3. ไส้กรอกอีสาน ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 10 ถุง, 4.ถุงบรรจุภัณฑ์ยี่ห้อต่างๆ 5.เนื้อไก่สด จำนวน 450 กิโลกรัม, 6. เครื่องบด จำนวน 1 เครื่อง, 7. เครื่องตีผสม จำนวน 1 เครื่อง, 8. เครื่องยิงไส้กรอก จำนวน 1 เครื่อง, 9.เครื่องเป่าลมไส้กรอกให้แห้ง จำนวน 2 เครื่อง, 10. เครื่องซิล จำนวน 1 เครื่อง, 11. หม้อต้ม จำนวน 3 ใบ, 12. แป้งสำเร็จรูป และส่วนผสมต่างๆ ซึ่งเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 15 รายการ รวมตรวจยึดไก่ยอ ไส้กรอกอีสาน และส่วนผสมต่าง ๆ กว่า 729 กิโลกรัม, เครื่องจักร, บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆที่ใช้ในการผลิตลูกชิ้น รวมกว่า 15 รายการ
ซึ่งนางสาวเอ รับสารภาพว่า ผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. และไม่มีเลขสารบบอาหารแต่อย่างใด โดยใช้บ้านพักดัดแปลงเป็นสถานที่ผลิต จากนั้นนำมาแช่ไว้ในถังน้ำแข็งขนาดใหญ่เพื่อรอการจำหน่ายให้กับลูกค้า ซึ่งเนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ตนซื้อมาจากโรงงานแยกชิ้นส่วนไก่แล้วนำมาผลิตเป็นไก่ยอและไส้กรอกอีสานที่ไม่ได้มาตรฐานส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดบางกะปิ เป็นต้น จากนั้นจะมีผู้ค้ารายย่อยมารับสินค้าไปกระจายต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไก่ยอและไส้กรอกอีสานวันละประมาณ 100 กิโลกรัม เฉลี่ยเดือนละ 1,600 กิโลกรัม โดยทำมาแล้วประมาณ 4 ปี
ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน“ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. ขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อนจำหน่าย หากพบไม่มีเลขสารบบอาหารอย่าซื้อมารับประทานโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนได้ เนื่องจากไม่ทราบแหล่งผลิตที่ใดและแหล่งผลิตนั้นมีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และปฏิบัติการดังกล่าว เป็นผลมาจาก
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนในพื้นที่ต่างๆ และมีมาตรการในการเฝ้าติดตามผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานตามท้องตลาดมาอย่างต่อเนื่อง แล้วพบว่ายังผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีเลขสารบบอาหารจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด ดังนั้น เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความเสี่ยงของการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีเลขสารบบอาหาร จึงจำเป็นต้องปราบปรามแหล่งลักลอบผลิตและจำหน่ายข้างต้น ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต
ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา