ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมกรมปศุสัตว์ และอย.“บุกถึงแหล่งยึดไส้กรอกจีนสุดฮิต 1,440 แท่ง ของกลาง อีก 20 รายการ”

0
278

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ. ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ. น.สพ.ต้นพงศ์ คำพลงาม นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมปศุสัตว์ ภก. เลิศชาย เลิศวุฒิรอง เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติการตรวจสอบแหล่งขายผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากประเทศจีน ตรวจยึดของกลาง 20 รายการ รวมกว่า 1,861 ชิ้น
สืบเนื่องจากมีข่าวผ่านทางสื่อออนไลน์ว่า หน่วยงาน DLD-Quarantine and Inspection K9 unit ของกรมปศุสัตว์ได้ทำการตรวจยึดสินค้าไส้กรอกหมูลักลอบนำเข้าจากประเทศจีนโดยซุกซ่อนไว้ในกระเป๋าเดินทาง ซึ่งก่อนหน้านี้กรมปศุสัตว์ได้ยกระดับการป้องกันโรคระบาดสัตว์เข้าประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เพื่อป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ในทวีปเอเชีย จึงไม่อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เนื่องจากเชื้อโรคดังกล่าวสามารถอยู่ใน
สิ่งแวดล้อมหรือซากสัตว์ได้นาน หากมีการนำขนส่งไปมาอาจเกิดความเสี่ยงในการ ปนเปื้อนและแพร่ระบาดของเชื้อโรค จนก่อให้เกิดโรคระบาดสัตว์ส่งผลให้มีการแพร่กระจายไปในที่ต่างๆ หากเกิดการระบาดในประเทศอาจเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยไส้กรอกดังกล่าวเป็นที่นิยมนำมาประกอบอาหารสุกี้สไตล์จีน แบบหมาล่าสายพาน ที่มีผู้คน
นิยมรับประทานกันในขณะนี้ร้านเหล่านี้มักจะมีเนื้อสัตว์ต่างๆ ผลิตภัณฑ์แปรรูปและน้ำซุปจากประเทศจีนมาประกอบอยู่ในเมนูด้วย ไส้กรอกชนิดดังกล่าวจะมีลักษณะแบบแท่งน้ำหนัก 40 กรัม ไม่แช่เย็น บรรจุในถุงพลาสติกเหนียวอย่างดี สามารถรับประทานได้ทันทีหรือนำเข้าไมโครเวฟ เก็บรักษาไว้ในที่แห้ง มีอายุการเก็บรักษา 180 วัน หรือ 6 เดือน ปกติไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนมากมีขายตามตลาดชายแดน เช่น สปป.ลาว และกัมพูชา
จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงนำมาสู่การมาตรการเชิงรุก โดยมีการติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคที่อาจซื้อมารับประทานและได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน หรือเชื้อโรคที่แฝงมา จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ ต่อมาได้รับการประสานจากกรมปศุสัตว์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ทำการตรวจสอบแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไส้กรอก และอาหารนำเข้าจากประเทศจีนย่านประชาชื่น กรุงเทพมหานคร จึงทำการสืบสวนพบว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศจีนจริง
ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เวลา 11.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับ กรมปศุสัตว์และ อย. เข้าทำการตรวจค้นอาคารแห่งหนึ่งย่านถนนประชาชื่น แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้น พบนางสาวจินดามณี (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานดูแลของสถานที่ดังกล่าว ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ยี่ห้อ “Shuanghui” จำนวน 1,440 แท่ง และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร
พ.ศ. 2522 รวม 20 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดีโดยของกลางที่ยึดในครั้งนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งหมด
ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ไส้กรอกหมูที่ลักลอบนำเข้ามานั้นเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้ขอเลขสารบบอาหารและไม่แสดงฉลากตามกฎหมาย การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.252 กรณีผู้นำเข้า หากนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่แสดงข้อมูลสำคัญ ได้แก่ เลขสารบบอาหาร ผู้ผลิต ส่วนประกอบ วิธีรับประทาน จะมีโทษปรับไม่เกิน
30,000 บาท” ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกันเสีย และสี ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารปนเปื้อน หรือจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจัดเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” ผู้นำเข้าหรือผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ.ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิตไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านอาหาร ร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิต หรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้อง
ประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา