ตำรวจสอบสวนกลางร่วมกับ อย.ทลายแหล่งผลิตขายชุดตรวจโควิด-19 ปลอมหลายยี่ห้อมูลค่าของกลางกว่า 2,000,000 บาท

0
420

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.,  พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ, พ.ต.อ.ธรากร  เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท. รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีตรวจค้นชุดตรวจโควิด-19 ปลอม หลายยี่ห้อ มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท

 สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากว่า ซื้อชุดตรวจ ATK ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วมีลักษณะต่างจากที่ซื้อจากร้านขายยาหรือร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วไป โดยผู้แทนจำหน่ายชุดตรวจ ATK หลายรายได้ยืนยันว่ามีลักษณะต่างจากชุดตรวจATK ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาขายจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 จึงทำการตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบผลิตเครื่องมือแพทย์ประเภทชุดตรวจ ATK ปลอม เพื่อหลอกขายให้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจำนวนมาก จากนั้นจึงทำการสืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิตและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยผู้ผลิตลักลอบนำเข้าอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 แยกชิ้นส่วน (ตลับตรวจโควิด น้ำยาตรวจโควิด ไม้แยงจมูก หลอดหยด หลอดเก็บตัวอย่าง และกระดาษเก็บตัวอย่างน้ำลาย มาจากประเทศจีน จากนั้นได้สั่งกล่องบรรจุภัณฑ์และคู่มือภาษาไทยโดยเลียนแบบชุดตรวจ ATK ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด แล้วนำมาบรรจุลงกล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นชุดตรวจ ATK สำเร็จรูปปลอมเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป ต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้นจากศาลจังหวัดนครปฐม และศาลจังหวัดนนทบุรี และร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. เข้าทำการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายซึ่งเป็นสถานที่ผลิตและจัดเก็บชุดตรวจ  ATK ปลอม จำนวน 2 จุด ดังนี้

 จุดที่ 1 อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.นราภิรมย์ อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตชุดตรวจตรวจ ATK ปลอม ผลการตรวจค้นพบ น.ส.เอ (สงวนนามสกุล) แสดงตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และสถานที่ดังกล่าว พนักงานในโรงงานดังกล่าว โดยรับว่ามีหน้าที่ในการบรรจุอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 (ตลับตรวจโควิด, น้ำยาตรวจโควิด, ไม้แยงจมูก, หลอดหยด, หลอดเก็บตัวอย่าง และกระดาษเก็บตัวอย่างน้ำลาย) ลงในกล่องแต่ละยี่ห้อที่เป็นที่นิยมในตลาดตามที่นายจ้างสั่งและพบชุดตรวจ ATK รวมทั้งอุปกรณ์ที่รอบรรจุใส่กล่อง และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์อื่นที่เป็นความผิด จำนวน 14 รายการ ดังนี้ 1.ชุดตรวจโควิด ตลับตรวจโควิด กล่องผลิตภัณฑ์.น้ำยาตรวจโควิด ไม้แยงจมูก หลอดหยด หลอดเก็บตัวอย่าง กระดาษเก็บตัวอย่างน้ำลาย หน้ากากอนามัย รวมเป็นจำนวนมาการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้ 1. ไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิต มาตรา 15 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม มาตรา 46(1) ประกอบ ม. 47(1)(2) ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่จดแจ้ง มาตรา 19 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ฉลากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มาตรา 44 วรรค 2 ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

จุดที่ 2 บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.บางเขน อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บชุดตรวจ ATK ปลอม เพื่อรอกระจายสินค้า ผลการตรวจค้นพบ น.ส.พร (สงวนนามสกุล) แสดงตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และสถานที่ดังกล่าวและพบใบรับสินค้าชุดตรวจ ATK จากจุดที่ 1 พร้อมทั้งชุดตรวจ ATK ยี่ห้อต่างๆ และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์อื่นรวมจำนวน 12 รายการและผลิตภัณฑ์สมุนไพรจีน 1 รายการ  รวมมูลค่าของกลางกว่า 2,000,000 บาท จึงตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีตามกฎหมาย  เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้ 1.ขายเครื่องมือแพทย์ปลอม มาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 47 (1) ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบรับแจ้งรายการละเอียด มาตรา 46/1 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบรับจดแจ้ง มาตรา 46/1 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒  ดังนี้ 1.ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา 91 จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ ไม่ได้แจ้งรายละเอียด หรือไม่ได้จดแจ้ง มาตรา58 (4) ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการจับกุมผู้ลักลอบผลิตและขายชุดตรวจ ATK ปลอม โดยมีการนำยี่ห้อและเลขที่ได้รับอนุญาต อย. ของผู้อื่นมาใช้ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจุดสังเกตของชุดตรวจ ATK ปลอมในครั้งนี้ อยู่ที่การแสดงรุ่นการผลิต วันที่ผลิต และวันหมดอายุที่ซองบรรจุชุดตรวจภายในกล่อง ไม่ตรงกับที่ระบุไว้บนกล่องผลิตภัณฑ์ซึ่งต่างจากชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าที่จะมีรุ่นการผลิตวันที่ผลิตและวันหมดอายุตรงกันทั้งที่ซองบรรจุฯ และกล่องบรรจุภัณฑ์  การเข้าตรวจสอบจับกุมในครั้งนี้นอกจากพบแหล่งผลิตชุดตรวจ ATK ปลอมแล้วเรายังพบสถานที่เก็บและขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตอีกหลายรายการ เช่น ถุงมือตรวจโรค เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และอุปกรณ์วัดไข้  ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงยังพบผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้รับอนุญาตนำเข้าและไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ  ฉลากไม่แสดงภาษาไทย  ซึ่งผู้ขายมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอเตือนประชาชนให้เลือกซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเองจากแหล่งขายที่น่าเชื่อถือและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง  เช่น ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป หรือสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตนำเข้าถูกต้องจาก อย.  โดยตรวจสอบฉลากต้องแสดงเป็นภาษาไทย พร้อมข้อความ “บุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้” และมีเลขประเมินเทคโนโลยีระบุไว้บนฉลาก ซึ่งขณะนี้ชุดตรวจ ATK (Home use) ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ทั้งหมดมี 355 รายการสามารถตรวจสอบรายชื่อชุดตรวจATK ที่ได้รับอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ https://www.fda.moph.go.th/sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19 aspx สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการโฆษณาขายชุดตรวจโควิดไม่ว่าจะเป็นสื่อช่องทางใดจะต้องขออนุญาตโฆษณากับ อย. ก่อน และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วต้องแสดงเลขที่อนุญาตโฆษณาเครื่องมือแพทย์ ฆพ. XX/XXXX กำกับสื่อโฆษณานั้นด้วยทั้งนี้หากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมายสามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล์ 1556@fda.moph.go.th

ด้านพล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระบุว่า ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ก่อนซื้อขอให้ตรวจสอบการได้รับอนุญาตกับเว็บไซต์ อย.ก่อนทุกครั้งและขอเตือนผู้ที่ลักลอบผลิตและขายผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุดเพราะท่านกำลังทำให้ผู้ป่วยโควิดหรือผู้ที่ต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ดังกล่าวได้รับความเสี่ยงจากการแปลผลที่ผิดพลาด เสียโอกาสได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่