ตำรวจภธูรภาค1จับมือ ม.รังสิต เปิดตัวโครงการ Cyber Team Heroes สร้างเยาวชนไทยรู้เท่าทันภัยคุกคามอาชญากรรมทางไซเบอร์

0
369

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต และตำรวจภูธรภาค 1 ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านวิชาการงานวิจัยการพัฒนานวัตกรรมและการมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม ภายในงานมีการให้ความรู้ใน เรื่องของอาชญากรรมและภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมเปิดตัวโครงการ “Cyber Team Heroes” สร้างเยาวชนไทยรุ่นใหม่ตระหนักถึงปัญหาของภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบใหม่เพื่อป้องกันตัวเองจากการตกเป็นเหยื่อ

 ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาจำนวนมาก และนักศึกษาบางกลุ่มมีแนวโน้วในการได้รับภัยคุกคามจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ จากกลุ่มมิจฉาชีพที่มาในหลายรูปแบบ มหาวิทยาลัยรังสิตได้เล็งเห็นปัญหาและมีนโยบายที่ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภัยทางไซเบอร์ให้แก่นักศึกษาเพื่อป้องกันตัวเองจากการตกเป็นผู้เสียหาย ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยยังต้องการชุดความรู้ในเรื่องของขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ หากเกิดเหตุกับตัวนักศึกษาเพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันตนเองรวมถึงการนำไปถ่ายทอดต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้กับคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน และสังคม ทั้งนี้โครงการ “Cyber Team Heroes” โดยตำรวจภูธรภาค 1 จะเข้ามาบูรณาการความร่วมมือระหว่างสององค์กร โดยนำจุดเด่นในด้านองค์ความรู้ทักษะความ เชี่ยวชาญและประสบการณ์ของทั้งสององค์กรมาพัฒนาร่วมกันในด้านวิชาการงานวิจัยการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม”

ด้านพล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 กล่าวว่า ด้วยปัจจุบัน อาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นภัยรูปแบบใหม่ที่กำลังทวีความรุนแรงและแผ่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นอันเนื่องมาจากที่ประเทศไทยของเรามีระบบการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งมุมหนึ่งเทคโนโลยีเป็นประโยชน์และทำให้เราเท่าทันโลกยุคดิจิทัลแต่อีกมุมหนึ่งการที่กลุ่มเยาวชน นักศึกษา และประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งานผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ได้โดยง่ายผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ ก็ตามแต่ยังขาดความรู้ ขาดภูมิคุ้มกันในการป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เชื่อว่าทุกคนยังมีไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง จึงทำให้เกิดช่องทางของมิจฉาชีพในการแสวงหาผลประโยชน์ โดยอาศัยกลวิธี และทักษะความรู้ทางเทคโนโลยีที่เชี่ยวชาญ ทำให้ตกเป็นผู้เสียหายในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของภาครัฐ ถึงแม้ให้มีการการปราบปรามอย่างจริงจังมาโดยตลอด แต่การเกิดคดีอาชญากรรม ทางเทคโนโลยีก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทางตำรวจภูธรภาค 1 เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงเกิดแนวความคิดในการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับสถาบันการศึกษาเพื่อให้เยาวชนไทย นักศึกษา และประชาชน ได้มีความรู้ตระหนักถึงปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตำรวจภูธรภาค 1 จึงจัดโครงการ “ฝึกอบรมอาสาสมัครเยาวชนคนรุ่นใหม่ ป้องกันภัยทางไซเบอร์” (Cyber Team Heroes) เพื่อเป็นการสร้างช่องทางการประชาสัมพันธ์การเผยแพร่ข้อมูล ขยายเครือข่ายอาสาสมัครผ่านนักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีที่ดีและเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงที่อาจตกเป็น ผู้เสียหาย เช่น กลุ่มผู้สูงอายุในครอบครัวและคนในชุมชนได้ โดยมีการตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างเยาวชนไทย รู้เท่าทันภัย และเป็นการตัดช่องทางของกลุ่มมิจฉาชีพที่แสวงหาผลประโยชน์ผ่านอาชญากรรมทาง เทคโนโลยีรูปแบบต่าง ๆ”

ทางด้าน อจ.วิทูล ทิพยเนตร คณบดีสถาบนั Gen.Ed. ในฐานะประธานความร่วมมือด้านวิชาการ กล่าวถึงความร่วมมือว่า “สำหรับความร่วมมือระหว่างตำรวจภูธรภาค 1 และมหาวิทยาลัยรังสิต โดยสถาบัน Gen.Ed. นั้นมีด้วยกัน 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ 1.ความร่วมมือทางด้านวิชาการงานวิจัย 2.ความร่วมมือด้านการพัฒนานวัตกรรม และ3.ความร่วมมือด้านการมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม โดยมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในการเริ่มต้นโครงการ “Cyber Team Heroes”ร่วมกับตำรวจภูธรภาค 1 เพื่อเป็นต้นแบบให้สถาบันการศึกษา หน่วยงาน หรือองค์กรอื่น ๆ นำไปประยุกต์ปฏิบัติเพื่อให้เกิดการ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศในการแก้ปัญหารวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยของนักศึกษาและประชาชนในทุกมิติของภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยมีการบูรณาโครงการ “Cyber Team Heroes” เข้าไปในรายวิชาต่างๆ ของสถาบัน Gen.Ed. เพื่อร่วมกันออกแบบเนื้อหา กิจกรรมที่สอดแทรกความรู้เท่าทันของภัยดังกล่าว รวมถึงแนวทางแก้ไขเชิงบวกทั้งในระยะสั้น และระยะยาวร่วมกัน เพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งเป็นเกาะป้องกันให้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาและเยาวชนไทย จากกลุ่มมิจฉาชีพที่แสวงหาผลประโยชน์ผ่านอาชญากรรมทางเทคโนโลยี”