“ปวีณา”พาเหยื่อ 4 รายยื่นขอการช่วยเหลือเยียวยาจากกระทรวงยุติธรรม

0
409
วันที่ 28 กันยายน 2566 ณ ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข ชั้น 1 กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบหมายให้นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมรับเรื่องการให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกระทำ โดยนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พาผู้เสียหายเข้าร้องขอความช่วยเหลือต่อกระทรวงยุติธรรม ในการนี้ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มอบหมายให้นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ พร้อมนางสาวจิฬาภรณ์ ตามชู กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลย

ในคดีอาญานายปริญญ์วัฒน์ เปี่ยมปิ่นวงศ์ หัวหน้าศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม และ นางสาวปรักมาศ พิมเสน นักสืบสวนสอบสวน ชำนาญการพิเศษ สำนักงานคุ้มครองพยาน รับเรื่อง 4 กรณี ดังนี้

1.กรณีเด็กอายุ 4 ขวบและแม่ ถูกพ่อทำร้ายและใช้บุหรี่ จี้ใบหน้าและลำตัว เหตุเกิดในพื้นที่ กทม. โดยได้แจ้งสิทธิ และรับคำขอช่วยเหลือเยียวยาแล้วพร้อมทั้งจะนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร 
2.กรณีเด็กหญิงอายุ 3 ปี ถูก ผอ. ศูนย์เด็กเล็กฯ อนาจาร เหตุเกิดในพื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้แจ้งสิทธิและรับคำขอช่วยเหลือ เยียวยาแล้ว พร้อมทั้งจะจัดส่งให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ 
3.กรณีน้องสาวถูกพ่อเลี้ยงข่มขืนตั้งแต่อายุ 9 ขวบ และมีลูกด้วยกัน 3 คน ผู้เสียหายได้แจ้งความ เหตุเกิดในพื้นที่ กทม. และจังหวัดกำแพงเพชร โดยได้แจ้งสิทธิ และรับคำขอช่วยเหลือเยียวยาแล้วพร้อมทั้งจะนำเสนอ คณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร

4.กรณีตำรวจนายหนึ่ง เมาแล้วขับชนเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ สาหัส 2 ราย เหตุเกิดในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้นำเสนอคณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัดอยุธยาพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้ง 4 รายแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 351,065 บาท

ในการนี้รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้แจ้งได้แจ้งสิทธิตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย แก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 กรณีตกเป็นผู้เสียหายได้รับความเสียหายแก่กาย (บาดเจ็บ) จากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยที่ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการกระทำความผิด มีสิทธิได้รับการเยียวยาตามพระราชบัญญัติ ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่  
(1)ค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 40,000 บาท 
(2)ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 20,000 บาท
(3)ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ตามค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่เกิน 1 ปี
(4)ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ไม่เกิน 50,000 บาท   
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ กรุงเทพมหานคร และบุรีรัมย์ ในพื้นที่เกิดเหตุเป็นสำคัญ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหายในคดีอาญา เพื่ออำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย โดยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) และส่วนภูมิภาค(สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ)หรือติดต่อที่สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77  “เราพร้อมยืนเคียงข้าง“ผู้บริสุทธิ์”และจะไม่หยุดช่วยเหลือ เพื่อความยุติธรรม"