ตำรวจ ปคบ.ร่วม อย. สสจ.สมุทรสาคร ทลายโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอม มูลค่าความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

0
71

 พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ.,พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยนพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร

 สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ได้รับแจ้งเบาะแสจากสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีการแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิด 4×100 อย่างรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่นโดยมีการนำยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม หรือยาบางชนิดมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำมาผสมกับน้ำกระท่อมดื่มเพื่อความมึนเมา และเสพติดเป็นจำนวนมาก ซึ่งยากลุ่มดังกล่าวจะต้องจำหน่ายโดย เภสัชกร เนื่องจากการเสพยาเสพติดชนิด 4×100 อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มวัยรุ่นที่เสพยกระดับเป็นสารเสพติดรูปแบบอื่นที่รุนแรงมากขึ้นได้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิดดังกล่าวในกลุ่มวัยรุ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีการเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยากลุ่มแก้แพ้ แก้ไอเรื่อยมา ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนหาข่าวพบว่า มีการลักลอบผลิตยาแก้ไอปลอม และทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตยาแก้ไอปลอมว่า มีการลักลอบผลิต และบรรจุ อยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร

 ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นำหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจค้น สถานที่ผลิตยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตรวจยึดและอายัดยาแก้ไอปลอม วัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิต และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 31 รายการ ดังนี้

1.ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 15,000 ขวด 2.ยาแก้ไอที่อยู่ระหว่างผลิต บรรจุลงขวด จำนวน 4,000 ขวด 3.วัตถุดิบในการผลิต-Glucose syrup  จำนวน 126 ถัง-Caramel colour จำนวน 9 ถัง- Trisodium citrate  จำนวน 3 กระสอบ-Ammonium chloride  จำนวน 4 กระสอบ- Sodium cyclamate  จำนวน 2 กระสอบ-Paraben จำนวน 9 ถุง – 55% High Fructose Syrup จำนวน 4 Gallon-Rasberry Flavor  จำนวน 11 Gallon -Menthol จำนวน 2 ถุง- Glycerine จำนวน 22 ถัง 4.อุปกรณ์ในการผลิต– หม้อต้ม จำนวน 2 ใบ-เครื่องผสม 500 ลิตร จำนวน 8 เครื่อง-เครื่องผสม 1000 ลิตร จำนวน 1 เครื่อง-ถังแก๊ส ขนาด 15 กก. จำนวน 12 ถัง-ถังแก๊ส ขนาด 48 กก.จำนวน 2 ถัง -เครื่องปิดฝาเกลียว จำนวน 4 เครื่อง- เครื่องบรรจุยา จำนวน 3 เครื่อง-เครื่องปิดฉลากยา จำนวน 2 เครื่อง- เครื่องแปลงไฟ จำนวน 9 เครื่อง- ปั๊มลม จำนวน 4 เครื่อง- เครื่องรัดสายบรรจุภัณฑ์ 2 เครื่อง 5.อุปกรณ์ในการบรรจุ ฉลากผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซิน จำนวน 48,000 ดวง– ขวดสีชา จำนวน 50,112 ขวด- ฝา จำนวน 450,000 ชิ้น-กล่องลังกระดาษ เล็ก จำนวน 10,290 กล่อง- กล่องลังกระดาษ กลาง  จำนวน 8,080 กล่อง- กล่องลังกระดาษ ใหญ่  จำนวน 160 กล่อง- กล่องลังกระดาษ ทรงสูง  จำนวน 1,280 กล่อง- สายรัดพลาสติก จำนวน 17 ม้วนและในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ขยายผลเข้าตรวจค้นสถานที่จับเก็บผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอ เพิ่มเติม จำนวน 2 จุด ดังนี้

 จุดที่ 1 สถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาครตรวจยึด ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 3,600 ขวด

จุดที่ 2 สถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม ขวดบรรจุภัณฑ์ และวัตถุดิบการผลิต ในพื้นที่ ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ตรวจยึดของกลางจำนวน 3 รายการ ได้แก่ 1.ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 27,000 ขวด 2.ขวดสีชา จำนวน 47,280 ชิ้น 3.น้ำตาล 50 kg. จำนวน 3 กระสอบ รวมตรวจค้น 3 จุด ตรวจยึดและอายัดยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 45,600 ขวด, วัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิต และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 35 รายการ โดยโรงงานดังกล่าวมียอดการผลิตวันละ 20,000 ขวด และลักลอบผลิตมาแล้วประมาณ 2 เดือน มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 50,000,000 บาท

 จากการสืบสวนพบว่า ผู้กระทำความผิดนำส่วนผสม วัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์จากสถานที่ต่างๆ
มาผลิต และบรรจุในโกดังในพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จากนั้นจะนำผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอมไปกระจายเก็บไว้ในโกดังพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมืองสมุทรสาคร โดยจะเปลี่ยนสถานที่ในการผลิตไปเรื่อยๆ รวมทั้งใช้กล่องผลไม้บรรจุยาแก้ไอปลอมในการขนส่งเพื่อตบตา และยากแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังสืบสวนทราบว่า กลุ่มผู้กระทำผิดดังกล่าว เป็นผู้ที่ได้รับการว่าจ้างผลิตยาแก้ไอปลอม ให้กับเครือข่ายผู้กระทำความผิด ในการผลิต และจำหน่ายยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้เข้าทำการตรวจค้นและดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมาอีกด้วย เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

1.ฐาน “ผลิตยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท 2.ฐาน “ผลิต และขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 50,000 บาท

 ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) กล่าวว่าปฏิบัติการครั้งนี้ อย. ต้องขอขอบคุณตำรวจสอบสวนกลาง บก.ปคบ.ที่ช่วยสืบสวนจนสามารถจับกุมเครือข่ายลักลอบผลิตยาน้ำแก้ไอปลอมได้ในวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมา อย.ได้มีมาตรการในการตรวจสอบเฝ้าระวังการผลิตและขายกลุ่มยาน้ำแก้ไอซึ่งเป็นยาอันตรายกลุ่มเสี่ยงที่มีการนำไปใช้ในกลุ่มวัยรุ่น เพื่อหวังผลให้เกิดอาการมึนเมา และมีการลักลอบขายทั้งทางอินเทอร์เน็ตและร้านขายยากลุ่มเสี่ยงมาโดยตลอดสำหรับการจับกุม ณ สถานที่ผลิตยาแก้ไอปลอมในวันนี้ จะเห็นได้ว่ายาปลอมเหล่านี้เกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนในการเลือกซื้อยา อย่าเสี่ยงสั่งซื้อยาจากสื่อออนไลน์หรือซื้อจากร้านที่ไม่มีใบอนุญาตขายยา ซึ่งนอกจากจะได้รับยาที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่สามารถใช้รักษาโรคได้แล้ว ยังไม่ปลอดภัย หรือเกิดอันตรายจากการบริโภคยาดังกล่าวได้  ขอให้เลือกซื้อยาจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะมีกระบวนการคัดเลือกยาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน นำมาขายในร้านยา รวมถึงเภสัชกรจะเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลให้กับผู้ป่วย

 สำหรับการเฝ้าระวังการลักลอบผลิตและขายยาแก้ไอ หรือยาอันตรายกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มนำไปใช้ในทางที่ผิดนั้น อย. มีมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการจับกุมทั้งผู้ที่ลักลอบผลิต ขาย ยาน้ำ แก้แพ้ แก้ไอปลอมหลายครั้ง และหากพบว่าผู้กระทำผิดเป็นผู้รับอนุญาต นอกจากจะถูกดำเนินคดีทางอาญาอย่างเคร่งครัดแล้ว จะถูกพักใช้ใบอนุญาต ห้ามผลิต และขายยาด้วย  ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line: @FDAThai และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 พล.ต.ต.วิทยา  ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ยาเป็นปัจจัย 4 ที่ประชาชนจะใช้รักษาเยียวยาเมื่อป่วยไข้อันดับแรก และส่งผลโดยตรงกับสุขภาพของประชาชน หากรับประทานยาปลอมที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ไม่หาย และอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต ผู้ผลิตและขายยาจะต้อง
ขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่ายาที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดมีมาตรฐาน และรักษาโรคได้จริง บก.ปคบ.จะดำเนินกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้
รับอนุญาตให้ถึงที่สุด และขอฝากความห่วงใยถึงกลุ่มเยาวชน ที่นำยายาแก้ไอ ยาแก้แพ้ หรือยาแก้ปวดไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในลักษณะสารเสพติดที่เรียกว่า “4×100” แล้วนำมาดื่มเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา เสียสุขภาพและอาจก่อเกิดเหตุอาชญากรรมสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนตามมา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินกวดขันจับกุมเครือข่ายที่นำยาดังกล่าวไปขายเพื่อตัดตอนการเข้าถึงยาเสพติดชนิด 4×100 ให้ถึงที่สุด ทั้งนี้การดำเนินการด้านการปราบปรามเป็นการแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง ต้องอาศัยผู้ปกครองหมั่นสอดส่องดูแลบุตรหลาน โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค